สำหรับพวกเราทุกคน มีพื้นฐานการปฏิบัติมาก่อนแล้ว ก็เหลืออยู่แต่เพียงว่าทำอย่างไรจะให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้าขึ้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะอยู่ในลักษณะของการปฏิบัติเฉพาะเวลา ไม่สามารถที่จะรักษาอารมณ์ใจให้ต่อเนื่องยาวนานได้ ในแต่ละวันมีเวลาในการชนะกำลังใจตัวเองน้อยมาก จึงมักจะโดนกิเลสจูงจมูก ไหลไปตามกระแส รัก โลภ โกรธ หลง ได้ง่าย เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ “หญ้าปากคอก”
สำนวนนี้บางคนฟังแล้วอาจจะงง ๆ หญ้าปากคอก ถ้าใครเคยเลี้ยงวัวเลี้ยงควายจะเห็น ส่วนใหญ่แล้วข้างในคอกวัวควายจะขี้จะเยี่ยวเอาไว้เละเทะไปหมด ตราบใดที่ยังเลี้ยงวัวเลี้ยงควายอยู่ในคอก หญ้าก็ขึ้นไม่ได้ แต่ว่ารอบคอกหญ้าจะขึ้นงาม แต่วัวควายเมื่อโดนปล่อยออกจากคอก ต่อให้หิวแสนหิวก็ไม่มีตัวไหนกินหญ้าปากคอก ตัวแรกที่ออกมาก็จะโดนตัวที่สองที่สามเบียดไล่ไปเรื่อย ก็ต้องไปหากินที่อื่น ดังนั้น..สำนวนหญ้าปากคอกของโบราณ ก็คือ ของดีอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้รับความสนใจ
หญ้าปากคอกที่ว่า ก็คือ อิทธิบาท ๔ เป็นหลักธรรมที่ใคร ๆ ก็รู้ สมัยก่อนอาตมาเรียนหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม เริ่มเรียนชั้น ป.๓ วิชานี้จะอยู่ยาวไปยันชั้น ป.๗ เลย หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ก็คือ เราต้องทำอย่างไรที่จะเป็นพลเมืองดี ต้องรู้และปฏิบัติให้เป็นพุทธมามกะที่ดีอย่างไร ในเรื่องของหลักอิทธิบาทธรรม พวกเราส่วนใหญ่จึงรู้กันแทบทุกคน เพียงแต่ว่ารู้แบบหญ้าปากคอก โอกาสที่จะได้ใช้งานมีน้อย ไปตะเกียกตะกายกินหญ้าไกลไปทุกที แบบเดียวกับที่อาตมาเคยเปรียบว่า พระนิพพานอยู่แค่หัวเรา แต่เรามักจะเอื้อมมือเลยหัว เลยคว้าพระนิพพานไม่ได้เสียที
หลักอิทธิบาทนั้นก็คือ ฉันทะ ต้องยินดีและพอใจที่จะปฏิบัติจริง ๆ ความยินดีและพอใจในการปฏิบัติธรรมนั้นเกิดจาก ๒ สถานด้วยกัน สถานแรกก็คือ ทุกข์จนเข็ด แบบนางปฏาจาราเถรี ผัวก็ตาย ลูกคนโตก็ตาย ลูกคนเล็กก็ตาย ลูกเพิ่งคลอดก็ตาย พ่อแม่และพี่ชายก็ตาย สรุปว่าไม่เหลือใครเลย ปฏิบัติธรรมเป็นพระอรหันต์ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะเห็นทุกข์ชัดมาก อีกประการหนึ่ง ก็คือ เห็นคุณประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม ว่าจะเกิดคุณต่อตัวเองอย่างไร ก็เลยยินดีและพากเพียรที่จะปฏิบัติไป
ข้อที่ ๒ วิริยะ คือความเพียรในการปฏิบัติ เคยกล่าวไปแล้วว่าพวกเรามักจะเหมือนกับไฟไหม้ฟาง พอถึงเวลาอาตมาเอาไฟจ่อเข้าไปหน่อยหนึ่งก็ไหม้พรึ่บขึ้นมา พอไม่มีคนใส่เชื้อไว้ให้ก็ดับไปในเวลาอันรวดเร็ว ทำอย่างไรที่ความเพียรของเราจะสม่ำเสมอ ก็คือต้องทำให้ได้ผล ถามว่าได้ผลถึงขนาดไหน ? เอาแค่ปีติก็พอ ไม่ต้องถึงฌานหรอก ใครที่ปฏิบัติถึงระดับปีติขึ้นไป จะเริ่มรู้แล้วว่าการปฏิบัติธรรมมีผลจริง ก็จะไม่เบื่อไม่หน่าย ตั้งหน้าตั้งตาทำไป
จิตตะ ความปักมั่น จดจ่ออยู่กับเป้าหมาย จำเป็นต้องเห็นคุณเห็นโทษอย่างชัดเจน เห็นโทษ..กลัวที่จะเป็นอย่างนั้นอีก เห็นคุณ..ต้องการเป็นอย่างนั้นบ้าง ต่างกันนิดเดียว ถ้าหากว่า “อยากจะเป็นแบบนั้น” ก็คือเห็นเขาทำแล้วได้ดี หรือว่า “กลัวจะเป็นอย่างนั้น” ก็คือกลัวจะต้องเกิดทุกข์เกิดโทษแบบนั้นขึ้นมาอีก กำลังใจก็จะปักมั่นอยู่กับเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลงไปไหน
คราวนี้ตัวสุดท้ายที่สำคัญมาก ๆ เลยแต่มักจะโดนลืม คือ วิมังสา เป็นการพิจารณาไตร่ตรองอยู่เสมอ ๆ ว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ปัจจุบันนี้ทำไปถึงไหน ? เหลือระยะเวลาใกล้ไกลเท่าไร ? ยังตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ? ต้องทบทวนอยู่เสมอ แต่พวกเรามักจะลืม ในเมื่อพวกเรามักจะลืม การปฏิบัติของเราก็ไม่แน่ว่าจะตรงทาง หรือไม่แน่ว่าทำแล้วจะเห็นผล
หลายท่านก็เลยกลายเป็นคนขยัน เช้าบ้างเย็นบ้าง ทำทุกวัน แต่ลืมไปว่าอย่างดีเราก็นั่งได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วกำลังใจมีคุณภาพถึงครึ่งชั่วโมงหรือเปล่าก็ไม่รู้ อีก ๒๓ ชั่วโมงเราก็ไหลตามกิเลสไปตลอด แล้วจะให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้อย่างไร เพราะว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มกับสิ่งที่เราเสียไป ก็คือกำลังใจเสียวันละ ๒๓ ชั่วโมง แต่กำลังใจดีมีวันละชั่วโมงเดียว ชดเชยกันไม่ได้ ทดแทนกันไม่ได้
ยังมีอีกพวกหนึ่ง ประเภทถือมงคลตื่นข่าว อาตมาเคยเปรียบไว้ว่า เหมือนกับคนขุดบ่อจะเอาน้ำ พอเราขุดลงไป ๒ วา ๓ วาใกล้จะถึงน้ำแล้ว เขาบอกว่าตรงโน้นดีกว่า เราก็วางมือจากที่นี่แล้วก็ไปเริ่มต้นขุดบ่อใหม่ พอลงไปได้สักวาสองวา ใกล้จะถึงน้ำแล้ว เขาบอกว่าด้านนั้นดีกว่า เราก็ไปทางด้านนั้นอีก
ท่านที่ยังถือมงคลตื่นข่าวลักษณะนี้ แสดงว่าการปฏิบัติยังไม่เคยมีผลจริง ๆ กับตนเองเลย บางท่านอาจจะทึกทักกับตัวเองว่า ตัวเองทำแล้วดีอย่างนั้น ได้อย่างนี้ แต่อาตมาขอยืนยันว่า ถ้ายังถือมงคลตื่นข่าวอยู่ ยังไหลไปที่โน่น ไหลไปที่นี่บ้าง ยังไม่ได้แน่วแน่ต่อเป้าหมายของตนเอง แล้วทำให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ การปฏิบัติยังไม่ได้เกิดผลอย่างแท้จริงเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะถ้าเกิดผลแล้ว เกิดความมั่นใจแล้ว ก็จะไม่ไหลไปไหน
สมัยก่อนพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านแนะนำหลวงปู่รูปนั้นบ้าง หลวงพ่อรูปนี้บ้าง ให้ลูกศิษย์ไปกราบ ไปศึกษาปฏิปทาการปฏิบัติ ลูกศิษย์บางคนก็ไหลหายไปจากวัดท่าซุง แต่หลายท่านก็มีความฉลาดเพียงพอ ไปศึกษาแล้วเห็นว่าเป็นปฏิปทาที่เหมือน ๆ กัน เป็นไปในรอยเดียวกัน ถือเอาตามแนววิสุทธิมรรคหรือพระไตรปิฎกเหมือน ๆ กัน ท่านทั้งหลายเหล่านี้เห็นเข้า ก็เกิดความมั่นใจว่าครูบาอาจารย์ของตนสอนดีแล้ว สอนถูกแล้ว พอไปหลาย ๆ สำนักเห็นลักษณะเดียวกัน ก็จะเกิดศรัทธาปักมั่นต่อครูบาอาจารย์ของตนเอง แล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติให้เกิดผล ส่วนท่านที่ไหลหายไปเลย ครูบาอาจารย์ท่านก็ถือว่าหมดภาระของท่านไป
ฉะนั้น..ในส่วนของการถือมงคลตื่นข่าวมักจะมีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสำนักไหนก็ตาม ถึงเวลาก็ที่โน่นดี ที่นี่ดี หารู้ว่าไม่ว่าสิ่งที่ดีนั้นเป็นความดีของใคร เป็นของเขาหรือเป็นของเรา ? อาตมาเคยเปรียบว่าเราไปชมสมบัติของเศรษฐี ไปชมเศรษฐีบ้านเหนือบ้าง บ้านใต้บ้าง บ้านตะวันออกบ้าง บ้านตะวันตกบ้าง ชมไปเถอะ..ทั่วประเทศและต่างประเทศ ชมไปแล้วสมบัติก็ยังเป็นของเศรษฐีอยู่เหมือนเดิม แล้วสมบัติของเราอยู่ที่ไหน ? เรามีสมบัติเพียงพอที่จะอวดอ้างกับคนอื่นเขาได้บ้างหรือไม่ ?
แบบเดียวกับที่เขาสอนให้นักบวชพิจารณาว่า “คุณวิเศษของเรามีบ้างหรือไม่ เพื่อจักไม่เก้อเขินเมื่อเพื่อนสหธรรมิกไต่ถาม” จึงอยากให้ทุกท่านทบทวนว่า การปฏิบัติของเราตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ แต่ละท่านทำมาไม่ใช่น้อย ๆ บางคนทำมาหลายสิบปี ถ้าอย่างของอาตมาเองก็ ๔๐ ปีถ้วน ๆ พอดี เพราะเริ่มทุ่มเททำให้แบบมอบกายถวายชีวิตในปี ๒๕๑๘ ทำมามากกว่าอายุของหลาย ๆ คนที่อยู่ที่นี่ หลายท่านในที่นี้ก็ทำมาลักษณะอย่างนั้น แล้วเรามีความดีอะไรที่เพียงพอจะอวดอ้างต่อคนอื่นเขาบ้าง ? ไม่ใช่อวดในลักษณะของมานะหรือถือตัวถือตนว่า ฉันทำได้ดีกว่า ฉันทำได้เหนือกว่า แต่ว่าให้มีสิ่งที่สามารถพูดด้วยความมั่นใจว่า การปฏิบัติแนวนี้มีผลจริง เพราะเราทำมาด้วยตัวเองแล้ว
สิ่งที่เตือนไปบางทีก็อาจจะผ่านหูพวกเราไปเฉย ๆ แล้วเราก็ยังคงแสวงหาไปเรื่อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการเข้าร้านอาหาร ถ้าอาหารไม่ถูกปากเราก็จะเปลี่ยนร้านไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้อาหารที่ถูกปากเสียที
แต่อาตมาอยากจะบอกกับทุกท่านว่า อาหารที่ถูกปากที่สุดคืออาหารที่เราปรุงเอง รู้หลักการแล้วรีบทำ อาหารจานแรก ๆ อาจจะออกมาดูไม่ได้เลย รสชาติถึงขนาดเทลงไปแล้วหมาวิ่งหนี แต่ขอให้ทำเถอะ เพราะถ้าทำแล้วเราค่อย ๆ พินิจพิจารณาดู ก็จะรู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง หรือไม่ก็ถามท่านที่เป็นผู้รู้ เคยทำมาก่อน ท่านก็จะบอกวิธีที่ทำให้ดีกว่าเดิม แล้วเราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำไป
บางท่านอายุขัยมากแล้ว เกินวัยเกษียณแล้วก็มี ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงมากพอที่จะตะเกียกตะกายไปชมสมบัติเศรษฐีที่อื่นอีกแล้ว มีอย่างเดียวคือต้องตั้งหน้าตั้งตาทำให้เกิดผลก่อนที่ชีวิตนี้จะหมดสิ้นไป ส่วนท่านที่อายุยังน้อยก็อย่าประมาท เพราะไม่แน่ว่าเราจะอยู่ได้อีกกี่วัน จำเป็นต้องเร่งความเพียรเช่นกัน เพื่อให้มีหลักเป็นเครื่องยึด ก่อนชีวิตนี้จะหมดสิ้นลง
ฉะนั้น..ในการปฏิบัติธรรมของเราจึงต้องทุ่มเทจริง ๆ ทำกันแบบเอาจริงเอาจัง ต่อให้ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่เราคุ้นชินก็ต้องลองทำ ไม่อย่างนั้นแล้วคนอื่นเขาทำกันมากมาย แต่เราบอกว่านี่ไม่ใช่อาหารของเรา แล้วเราจะไม่กินเลย ก็แปลว่าเราต้องลำบากเดือดร้อน แล้วก็หิวอยู่คนเดียว ขณะที่คนอื่นตั้งหน้าตั้งตากินไป อย่างน้อย ๆ มื้อนี้เขาไม่หิว มื้อหน้าอาจจะกินต่อไปก็ไม่หิวอีก แต่เราเองบอกว่าอาหารร้านนี้ไม่ถูกปาก อาหารชนิดนี้ไม่ถูกใจ แล้วไม่ยอมกินอะไรเลย เท่ากับเราทำตัวเราให้เดือดร้อนเอง
วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ทุ่มเททำอย่างจริง ๆ จัง ๆ ถ้าทุ่มสุดแล้วยังไม่ดี เราจะได้ด่าให้เต็มปากเต็มคำว่า แนวการปฏิบัติแนวนี้ใช้ไม่ได้ การปฏิบัติธรรมอย่าปฏิบัติด้วยหู ก็คือฟังคำเล่าลือของคนอย่างเดียว แต่ให้ปฏิบัติด้วยใจ คือตั้งหน้าตั้งตาลงมือทุ่มเททำไป และที่แน่ ๆ ควรจะมีพื้นฐานสักเล็กน้อย อาจจะเป็นตำราสักเล่มหนึ่ง อย่างเช่นพระไตรปิฎกก็ดี วิสุทธิมรรคก็ดี หรือว่าตำราของหลวงปู่หลวงพ่อที่เรามั่นใจในคุณความดีของท่าน ว่าท่านสอนตรง สอนถูก ยึดไว้เป็นหลัก เมื่อไปเจอสำนักอื่น ๆ ถึงเวลาจะได้เปรียบเทียบวิธีการสอนและปฏิบัติของท่าน ว่าตรงกับตำราของเราไหม
แต่ว่าวิธีนี้โอกาสพลาดก็มีสูง เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนเอาไว้มากมายถึง ๔๐ อย่างด้วยกัน บางอย่างก็ไม่ใช่ตรง ๆ อย่างเช่นสายสัมมาอะระหัง ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านกำหนดดวงแก้วที่ศูนย์กลางกาย เราก็จะบอกว่าในพระไตรปิฎกไม่ได้กล่าวถึงเลย เพราะว่าเราปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามที่พระพุทธเจ้าสอน จึงไม่รู้ว่าดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายก็คืออาโลกกสิณ เป็นการกำหนดแสงสว่างให้เกิดขึ้น
ถ้าหากว่าเรามีตำราที่เชื่อถือได้เป็นหลักแล้ว เวลาไปเจอสำนักไหนที่เขาบอกว่าเป็นเศรษฐี ที่เราควรจะไปชม ไปศึกษาว่า ท่านทำอย่างไรถึงได้ร่ำรวยเป็นเศรษฐีในทางธรรมแบบนั้น เราจะได้รู้ว่านั่นเป็นเศรษฐีจริงหรือว่าเศรษฐีปลอม จะได้ไม่ต้องเสียเวลาขุดบ่อไปเปล่า ๆ ไม่อย่างนั้นถ้าเป็นเศรษฐีปลอมแนะนำให้เราไปขุดบ่อบนยอดเขา ถ้าไม่ใช่โชคดีจริง ๆ เพราะบุญเก่าทำไว้ดี บังเอิญขุดไม่กี่ทีก็ทะลุลงไปเจอโพรงถ้ำที่มีน้ำ ก็แปลว่าอาจจะเสียเวลาอีกหลายชาติเพราะหลงเดินทางผิด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก
เพราะการเกิดทุกชาติมีแต่ความทุกข์ ทุกคนเกิดมาบนกองทุกข์ ดำเนินชีวิตอยู่บนกองทุกข์ แล้วก็ตายไปท่ามกลางความทุกข์
เราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาและปฏิบัติให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้ การศึกษาก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติจริง ๆ อย่างที่บาลีใช้คำว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ก็คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมเหมือนกับดวงแก้ววิเศษที่ใคร ๆ ก็มีความปรารถนาอยากจะได้ แต่ว่าต้องทุ่มเทในการไขว่คว้าแสวงหา อย่างที่โบราณกล่าวว่า “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่แดนไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา”
เรื่องของธรรมะก็เหมือนกัน เราต้องทุ่มเทกับการปฏิบัติ ทำให้ดี ทำให้ถูก ทำให้พอเหมาะพอควร จึงจะเรียกว่าปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม เกิดความศรัทธาเลื่อมใส แล้วน้อมนำเอามาปฏิบัติ แปลว่าเราสร้างสมบุญญาบารมีมาเพียงพอแล้ว ในเมื่อเราสร้างสมคุณความดีไว้เพียงพอแล้ว แปลว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงมรรคถึงผล เพียงแต่ว่าเราต้องทำให้ดี ทำให้ถูกเท่านั้น
เรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่จริงจัง แต่จะเกิดประโยชน์แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลายจะนำไปพินิจพิจารณากันเอาเอง เรื่องของการปฏิบัติธรรม ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้ คนอื่นกินข้าวแล้วจะให้เราอิ่มนั้น เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด เราต้องกินด้วยตนเอง ในเมื่อกินด้วยตนเองแล้ว ก็อย่าพึ่งพาให้คนอื่นทำให้กิน แต่ต้องพยายามทำกินเองให้ได้ ครูบาอาจารย์มีโอกาสล่วงลับดับขันธ์ไป ระยะเวลาที่ผ่านมาเราก็เห็นอยู่ ครูบาอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง ก็ยังไม่สามารถจะล่วงพ้นจากความตายไปได้
ดังนั้น..เราจึงจำเป็นต้องรีบฉวยโอกาส ประพฤติปฏิบัติให้กำลังใจของเราสูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ เพื่อที่ถึงเวลาครูบาอาจารย์ล่วงลับไป เราจะได้มีหลัก เราจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเราเป็นลูกศิษย์ของท่าน เพราะเราประพฤติปฏิบัติตามปฏิปทาที่ท่านสอนจนเกิดผลแก่ตัวเองแล้ว การทำจนเกิดผลแก่ตัวเองนั้น เป็นเครื่องยืนยันที่ดีที่สุด
เราจึงต้องทบทวนดูกำลังใจของเราอยู่เสมอว่า ปฏิบัติธรรมไปแล้ว รัก โลภ โกรธ หลง ลดน้อยลงหรือไม่ ? ความมานะ ถือตัวถือตน ลดน้อยลงหรือไม่ ? หรือว่ายังเป็นคนที่กระทบเมื่อไรก็เกิดความหงุดหงิด เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีใครสามารถที่จะบอกกล่าวเราได้ นอกจากเราจะพิจารณาเอง เมื่อเห็นแล้วก็พยายาม ลด ละ และเลิกให้ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วการปฏิบัติธรรมของเราก็จะหาความก้าวหน้าไม่ได้ และอาจจะโดนกิเลสถ่วงจนถอยหลังลงไปเรื่อย ๆ ก็เป็นไปได้
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
โอวาทช่วงงานบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมวันวิสาขบูชา
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม – ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๘