“วาโยกสิณ“
วาโยกสิณนี่เขาให้ศัพท์เวลาภาวนาใช้ศัพท์ว่า “วาโยกสิณัง” คือกสิณลม การใช้กสิณลมนี่หานิมิตยาก เพราะเราไม่สามารถจะเอาลมมาเป็นนิมิตได้ ทั้งนี้เว้นไว้แต่ว่าคนที่ได้ฌานในกสิณอื่นมาก่อน แต่ว่าทุกท่านถ้าศึกษาตั้งแต่ปฐวีกสิณมา ถ้าบังเอิญได้ปฐวีกสิณแล้ว ได้เตโชกสิณแล้ว มาปฏิบัติในวาโยกสิณ ให้ทำกสิณขั้นต้นที่ได้แล้วให้ได้ฌาน 4 เสียก่อน
ถ้าจับกสิณต้นเดิมถึงฌาน 4 ทำอารมณ์ถึงฌาน 4 คือปฐวีกสิณ เมื่อจิตเข้าตั้งอยู่ในฌาน 4 แล้ว เราก็ย้ายอารมณ์ลดลงลดอารมณ์ลงนิดหนึ่ง ฌาน 4 มันย้ายไม่ได้ ลดอารมณ์ลงนิดหนึ่งถึงขั้น “อุปจารสมาธิ” คือจิตมีกำลังเคลื่อนไหวได้เบาลง ย้ายเข้าจับเตโชกสิณ
มองเห็นลมในอากาศ
หลังจากนั้นเมื่อเตโชกสิณทรงตัวถึงฌาน 4 แล้ว ตั้งใจให้เป็นสุข ก็ไปจับวาโยกสิณต่อ อันนี้เป็นของไม่ยากถ้าใช้กำลังของฌาน 4 เป็นฌาน เราจะเห็นกระแสลมในอากาศ คือกระแสลมในอากาศนั่นไม่เกินกำลังของทิพจักขุญาณ
ทีนี้สมมุติว่าถ้าเป็นคนที่ฝึกใหม่ ไม่สามารถจะมีทิพจักขุญาณเห็นกระแสลมได้ ท่านก็ให้สังเกตอาการไหวไปไหวมาของกิ่งไม้ ตามธรรมดากิ่งไม้ถ้าอ่อนบ้างพอสมควรเวลาลมพัดมากิ่งจะไหวไปไหวมา ก็ให้มีความรู้สึกว่ากิ่งไม้ที่ไหวไปไหวมานี่อาศัยกระแสลมสัมผัสเป็นสำคัญ
เมื่อกระแสลมมีความแรงกว่าความแข็งของกิ่งไม้และใบไม้ กิ่งไม้และใบไม้ก็จะไหว ให้เอาตาจับกิ่งไม้จำอาการไหวไปไหวมาของกิ่งไม้นั้น และก็นึกในใจว่า “วาโยกสิณัง” แล้วก็หลับตานึกถึงภาพของกิ่งไม้ที่ไหวไปไหวมา ถ้าภาพนั้นเลือนไปจากใจก็ลืมตาดูใหม่ ทำอย่างนี้ก็เหมือนกันทุกกองทุกกสิณ
ทำไป ๆ พอจิตสามารถจับภาพไว้นานพอสมควร ต่อไปจิตจะเข้าถึงความปีติความอิ่มใจ ถ้าเรียกถึงสมาธิเรียกอุปจารสมาธิ ตอนนี้ภาพกิ่งไม้หรือใบไม้ที่ไหวจะปรากฏกับใจอยู่ตลอดเวลา เรียกว่ามันไม่ค่อยจะเคลื่อนไปไหน ไม่ค่อยจะคลายอย่างนี้ถือว่าเป็นอุปจารสมาธิขั้นกลาง
ต่อไปสีใบไม้จะค่อย ๆ กลายจากใบเขียวใบแดงหรือใบขาวก็ตามเถอะ จะค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองทีละน้อย ๆ จนกระทั่งเหลืองหมด ทั้งใบ ทั้งกิ่ง เหลืองชัด เราก็จะทรงอารมณ์ตามเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนแปลง ใช้ทรงอารมณ์ตามนั้น รู้ลมหายใจเข้าออก รู้คำภาวนาตามเดิม เอาจิตนึกถึงภาพใบไม้ที่กลายไปแล้ว
ต่อมาถ้าจิตมีกำลังสูงขึ้นเป็นขั้นอุปจารสมาธิเหมือนกัน กิ่งไม้และใบไม้ค่อย ๆ กลายเป็นสีขาวทีละน้อย ๆ พอขาวทั้งหมดชื่อว่าเป็นกำลังของอุปจารสมาธิ
ฌานในวาโยกสิณ
ทีนี้กสิณนี้จะไม่สอนเรื่องทิพจักขุญาณ เพราะกสิณทิพจักจุญาณเป็นเตโชกสิณตรง แล้วต่อมาก็ภาวนาเรื่อย ๆ ไปกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จิตจับภาพนั้นให้ทรงอยู่ ภาพนั้นสีขาวจะกลายเป็นแก้ว กลายเป็นแก้วทีละน้อย ๆ ผลที่สุดจะกลายเป็นแก้วใสสะอาดมาก
อีตอนที่นิมิตกสิณกลายเป็นแก้วนี้ต้องสังเกตลมหายใจเข้าออก ถ้าเรายังภาวนาอยู่คำว่า “วาโยกสิณัง” ยังภาวนาอยู่ ยังรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ อย่างนี้เรียกว่าปฐมฌานเป็นฌานที่ 1 นี่ใสเป็นแก้วแล้วนะ
ต่อมาภาพใสเป็นแก้ว ใสมากขึ้น จิตมีความอิ่มเอิบมากขึ้นแต่ลืมภาวนา คำภาวนาหายไป ลมหายใจเข้าออกยังรู้ ลมหายใจเข้าออกเบาลง อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ 2
ต่อไปจิตมีอาการแนบสนิท อิ่มเอิบ มีความสุขมาก เรียกว่าความอิ่มเอิบความปลาบปลื้มหายไป เหลือแต่ความสุขกับการทรงตัวของจิต เรียกเอกัคคตารมณ์อาการร่างกายนั่งเฉย ๆ นอนเฉย ๆ เหมือนกับตึงเครียด เหมือนกับเกร็งตัวแต่ความจริงเราไม่ได้เกร็ง ลมหายใจเบาลงมาก หูได้ยินเสียงภายนอกเบามาก อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ 3
ต่อไปยังเห็นภาพกสิณเป็นแก้วใสหนักขึ้นดีมาก ใสชัดเจนเรียกว่าไม่มีอะไรน่าตำหนิ ใสสวยมาก ปรากฏว่าลมหายใจหายไป จิตมีการทรงตัวแนบสนิทไม่มีการเคลื่อนไหว ภาพแก้วใสจิตปลอดโปร่ง อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ 4
ต้องพยายามทรงตัวให้เข้าถึงฌานที่ 4 ไว้บ่อย ๆ และฝึกฝนให้เข้าถึงฌานที่ 4 ให้คล่องและให้เร็วที่สุด ทั้งนี้เพราะว่าวาโยกสิณเป็นกสิณใช้สำหรับ “เหาะ” คือต้องการความเบาต้องการความเร็ว ถ้าของที่หนัก ๆ เรายกไม่ขึ้น เราต้องการจะให้เบาก็ใช้กำลังของวาโยกสิณเข้าช่วย
อารมณ์ของจิตเพื่อการใช้งานในวาโยกสิณ
แต่ว่าการที่เขาจะใช้กันจริง ๆ วิธีใช้สำหรับผู้ฝึกใหม่ อันดับแรกนึกถึงภาพกสิณที่เป็นแก้วแล้วก็ภาวนาว่า “วาโยกสิณัง” รู้ลมหายใจเข้าออก พอจิตเริ่มสบายแล้วก็อธิษฐานว่า “ขอของหนักนี้จงเบาเหมือนกับกำลังลมที่เคลื่อนไหวไปไหวมา” และต่อจากนั้นเคลื่อนจิตไปถึงฌาน 4 ถอยหลังจากฌาน 4 มาทรงอุปจารสมาธิ คืออารมณ์พอคิดได้ พอจับสิ่งนั้นมันจะเบามาก
ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการจะยกของ ต้องการจะยกตัวเองไปไหนล่ะ ต้องการจะไปสวรรค์หรือพรหมโลก จะไปแดนนรกเปรตอสุรกาย ไปมนุษยโลก ดาวดวงไหนก็ตามไปได้ทุกดวง มีความต้องการคิดว่าเราจะไปดาวดวงนั้น ไปสวรรค์ ไปพรหมโลกก็ตาม ไปไหนก็ตาม
ให้คิดไว้ก่อนว่าเราจะไป หลังจากนั้นก็ทิ้งอารมณ์จับภาพวาโยกสิณที่เราได้ แล้วก็รู้ลมหายใจเข้าออกภาวนาว่า “วาโยกสิณัง” รวบรวมกำลังใจเข้าถึงฌาน 4 ถอยหลังมาอธิษฐานอีกที ว่าเราจะไปตรงนั้นพอเคลื่อนจิตเข้าถึงฌาน 4 มันก็จะไปทันที
นี่เป็นระยะของคนฝึก ถ้าหากว่าท่านที่ปฏิบัติคล่องแล้วก็ไม่มีการถอยหน้าถอยหลัง เป็นเพียงเป็นแต่เพียงคิดว่าเราจะไปไหนมันจะไปทันที นี้คนคล่องแล้วนะ ก็แนะนำไว้แค่พอรู้
พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2537),168,48-50
Facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง
(ภาพนี้ หลวงพ่อไปเขาค้อ จ. เพรบูรณ์)