You are currently viewing “พรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานใหญ่มาก”

“พรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานใหญ่มาก”

พรหมวิหาร ๔ เป็นกรรมฐานใหญ่มาก
ในกรรมฐาน ๔๐ แยกพรหมวิหาร ๔ ออกเป็น ๔ กองด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่น่าจะนับเป็นกองเดียว ก็เพราะความยิ่งใหญ่ละเอียดลออของกรรมฐานทั้งหลายเหล่านี้
พรหมวิหาร ๔ นั้นประกอบไปด้วย
เมตตาคือความรักผู้อื่นเสมอด้วยตนเอง
กรุณาคือความสงสาร อยากเห็นผู้อื่นเขาพ้นจากความทุกข์
มุทิตาคือความพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
อุเบกขา ในเมื่อช่วยเหลือจนสุดความสามารถแล้วไม่สามารถที่จะช่วยได้ ก็ต้องปล่อยวาง ยอมรับว่าเป็นกฎของกรรม
แต่การปล่อยวางนั้น ก็ยังอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ถ้ามีโอกาสเมื่อไร ก็จะทำการช่วยเหลือใหม่
พรหมวิหาร ๔ นั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจให้แช่มชื่นเบิกบาน มีความอยากจะปฏิบัติธรรม เพราะเห็นว่าธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ดีเลิศ เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง
เรายิ่งทำมากเท่าไร ยิ่งอนุเคราะห์สงเคราะห์บุคคลอื่นได้มากเท่านั้น จิตใจที่แช่มชื่นเยือกเย็นก็จะทำให้กรรมฐานต่าง ๆ ทรงตัวได้ง่าย
และพรหมวิหาร ๔ ยังเป็นตัวประคับประคองศีลให้บริสุทธิ์ไปโดยปริยาย
ในเมื่อเรารักเขาสงสารเขา เราก็ไม่คิดที่จะเข่นฆ่าทำร้ายใคร
ในเมื่อเรารักเขาสงสารเขา เราก็ไม่คิดที่จะไปลักขโมยผู้ใด
ในเมื่อเรารักเขาสงสารเขา เราก็ไม่ไปแย่งชิงสิ่งที่เขารัก คนที่เขารัก
ในเมื่อเรารักเขาเราสงสารเขา เราก็ไม่ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น
ในเมื่อเรารักคนรอบข้างและตนเอง เราก็ไม่ไปกินเหล้าเมายาซึ่งทำลายทั้งสุขภาพของตนเอง และทำให้คนรอบข้างเขาเดือดร้อนเพราะการกระทำของเรา
เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ว่า ในส่วนของพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นตัวควบคุมศีลอย่างแท้จริง
บุคคลที่ทรงพรหมวิหาร ๔ จะมีศีลบริสุทธิ์โดยอัตโนมัติ
การที่เราจะบำเพ็ญในพรหมวิหาร ๔ นั้น ก็คือการที่เรากำหนดใจที่เต็มไปด้วยหวังดีปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งใจว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรต่อคนและสัตว์ทั่วโลก กำหนดความรู้สึกนี้ให้แผ่ออกไปสู่เขาทั้งหลายเหล่านั้น
เมื่อกระทำจนกระทั่งกำลังใจสงบเยือกเย็น เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาแล้ว ก็ให้จับลมหายใจเข้าออกภาวนาต่อไป
จึงจะทำพรหมวิหาร ๔ นี้ให้เป็นฌานได้ ไม่เช่นนั้นแล้วพรหมวิหาร ๔ ของเรา อย่างเก่งที่สุดก็ไม่ได้เกินอุปจารสมาธิ
เพราะว่าเป็นอารมณ์ในการคิดเสียมาก ดังนั้น..พรหมวิหาร ๔ จะทรงตัวหรือไม่ทรงตัว ขึ้นอยู่กับพื้นฐานคืออานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกของเรา
ถ้าเราจะกระทำตัวเมตตาพรหมวิหารในอีกลักษณะหนึ่ง คือการกำหนดภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา ให้พระองค์ท่านสว่างไสวอยู่ทั่วจักรวาล กำหนดให้พระรัศมีอันสว่างไสวของพระองค์ท่านนั้น คือพระเมตตาซึ่งแผ่ปรกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิทุกหมู่ทุกเหล่าโดยเสมอหน้ากัน
หายใจเข้า..ให้พระรัศมีของพระองค์ท่าน แผ่กว้างออกไปสู่เขาทั้งหลายเหล่านั้น
หายใจออก..ให้พระรัศมีทั้งหลายเหล่านั้น หดกลับเข้ามาสว่างไสวอยู่ที่องค์พระท่าน
หายใจเข้า..ให้รัศมีแผ่กว้างสว่างไสวออกไป
หายใจออก..ให้พระรัศมีหดกลับเข้ามาสว่างอยู่ที่องค์พระ
การซักซ้อมดังนี้นอกจากจะเป็นการแผ่เมตตา ที่เราจะรู้สึกว่าเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นการซักซ้อมในพุทธานุสติ ในกสิณ และในกรรมฐานกองอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกด้วย
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้สามารถที่จะทำได้ จัดเป็นกีฬาสมาธิ เพื่อทำให้สภาพจิตของเราได้มีสิ่งที่แปลกใหม่เอาไว้กระทำ
แทนที่จะดูแต่ลมหายใจอย่างเดียว หรือแทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว เมื่อสภาพจิตมีสิ่งที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ เข้ามารับรู้ ก็จะไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น
ดังนั้น..การที่เราจะกำหนดภาพพระให้พระองค์ท่านแผ่พระรัศมีออกไป แทนพระเมตตาคุณต่อที่มีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ดี สิ่งที่จะลืมไม่ได้คือต้องควบกับลมหายใจเข้าออก เพื่อความมั่นคงในสภาพจิตใจของเรา
ถ้าสามารถทำได้ถึงที่สุด เราจะสามารถกำหนดความสว่างไสวนั้น เบื้องบนไปจรดพรหมชั้น ๑๖ เบื้องล่างถึงอเวจีมหานรก เบื้องขวาง (รอบข้างของเรา) ก็คือโลกธาตุต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นอนันตจักรวาล ไม่สามารถที่จะนับได้ทั่วถ้วน
ถ้าสามารถกระทำได้อย่างนี้ทุกวัน กำลังจิตของเราที่ประกอบไปด้วยความเมตตา ก็จะมีความแจ่มใสเยือกเย็น ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ถึงอานิสงส์ว่า
บุคคลที่เจริญเมตตานั้น
๑.หลับก็เป็นสุข
๒.ตื่นก็เป็นสุข
๓.ไม่ฝันร้าย
๔.เป็นที่รักของมนุษย์
๕.เป็นที่รักของอมนุษย์
๖.เทวดาจะช่วยรักษา
๗.ไม่ว่าอาวุธ ยาพิษ หรือเปลวไฟไม่สามารถที่จะทำร้ายได้
๘.สามารถยังสมาธิให้ทรงตัวมั่นคงได้
๙.เป็นผู้ที่มีใบหน้าอันผ่องใส
๑๐.เป็นผู้ที่ตายแล้วไม่หลง คือมีสติมั่นคง
๑๑.เมื่อตายแล้วมีพรหมโลกเป็นที่ไป เป็นต้น
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเรากระทำในตัวของพรหมวิหาร ๔ แล้ว ก็หวังเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือความเป็นพระอนาคามีและความเป็นพระอรหันต์
เมื่อเราเห็นว่าพรหมวิหาร ๔ นี้มีคุณค่าใหญ่ขนาดนี้ ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจซักซ้อมเอาไว้เป็นปกติ เพื่อความอยู่สุขอยู่เย็นของเราเอง เพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติของเรา และเพื่อมรรคผลนิพพานของเราในภายหน้า
ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจกำหนดใจภาวนา แผ่เมตตาสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย และเอาจิตใจจดจ่ออยู่ที่ภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นจุดสุดท้าย ตั้งใจว่าพระองค์ท่านอยู่ที่พระนิพพาน
เราเห็นพระองค์ท่านก็คือเราอยู่กับพระองค์ท่าน เราอยู่กับพระองค์ท่านก็คือเราอยู่บนพระนิพพาน ให้ทุกคนตั้งใจปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ ของตน จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๖
ที่มา www.watthakhanun.com