วันพระใหญ่อย่าง “วันอาสาฬหบูชา 2566” เวียนมาถึงอีกครั้ง ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร อีกทั้งปีนี้วันอาสาฬหบูชายังติดกับวันเข้าพรรษาอีกด้วย (วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการแต่ไม่เป็นวันหยุดธนาคาร)
ทั้งนี้ ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชานั้น ว่ากันว่าเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น นั่นคือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ “ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก” ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน และยังเป็นวันที่พระองค์แสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกด้วย เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม (เป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก)
- วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่พระรัตนตรัยครบองค์สาม
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูในเรื่องราวพุทธประวัติ ยังพบข้อมูลด้วยว่าในการแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการแสดงพระธรรมโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ, พระวัปปะ, พระภัททิยะ, พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ
จนในที่สุดหนึ่งปัญจวัคคีย์อย่าง “พระโกณฑัญญะ” ก็ได้บรรลุธรรม และขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงส่งผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีก 1 ประการ นั่นคือ เกิดมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นั่นเอง จากเหตุการณ์สำคัญทั้งหมดเหล่านี้ ในเวลาต่อมาวันอาสาฬหบูชาก็มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “วันพระธรรม” และ “วันพระสงฆ์”
- กำเนิด “วันธรรมสวนะ” หรือวันฟังธรรม ส่วนใหญ่มักจัดขึ้นในวันพระใหญ่
คำว่า วันธรรมสวนะ (อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ) หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา อันได้แก่ ถือศีล ฟังธรรม โดยเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ มีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 คำ่ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ โดยวันอาสาฬหบูชาก็เป็นหนึ่งในวันพระใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนควรถือศีลและฟังธรรมเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ, วัน 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าวได้
จากนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปพบปะชุมนุมกันเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันฟังพระธรรมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย