You are currently viewing ธ สถิตกลางใจราษฎร์ กษัตริย์ผู้ครองใจประชาชน หลากเหตุผลคนไทยรักในหลวง รัชกาลที่ 9

ธ สถิตกลางใจราษฎร์ กษัตริย์ผู้ครองใจประชาชน หลากเหตุผลคนไทยรักในหลวง รัชกาลที่ 9

“การที่จะอธิบายว่า “พระมหากษัตริย์” คืออะไรนั้น ดูเป็น ปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่าพระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จัก หรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้น ก็คือทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าจะถามว่าข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่ เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา”… พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานคำตอบแก่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์บีบีซี เมื่อกราบบังคมทูลถามถึงพระราชทัศนะเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อจัดทำภาพยนตร์เรื่อง “Soul of The Nation” ในปี 2522

ภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก ใช้ชีวิตสมถะ และใกล้ชิดราษฎร ยังคงตราตรึงอยู่ในหัวใจคนไทยทั้งประเทศ “พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ให้” อย่างแท้จริง นับตั้งแต่มีพระบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ก็ทรงอุทิศกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนตลอดมา ทรงตั้งพระราชปณิธานว่าจะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดให้ทั่วประเทศ เพื่อทรงทราบถึงทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของราษฎร อันนำมาซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ที่ครอบคลุมปัญหาทุกด้านของประชาชน อย่างไรก็ดี หากเพียงแต่เสด็จเยี่ยมราษฎร เพราะถือเป็นหน้าที่ของประมุขตามประเพณี โดยไม่สามารถมีส่วนร่วมในการบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนแล้วไซร้ ก็ต้องถือว่าการเป็นประมุขของประเทศประสบความล้มเหลว และคงไม่สามารถผูกใจสร้างความจงรักภักดีให้บังเกิดแก่ประชาชน

กระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งของ “สมเด็จพระบรม ราชชนนีพันปีหลวง” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ.2526 สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงเหตุผลที่ทำให้ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ต้องทรงงานตรากตรำอย่างหนัก เพื่อช่วยประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยาก “…รับสั่งว่าเราต้องตอบแทนความรักของประชาชนด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จะบำบัดความทุกข์ของเขา เพราะเขาเป็นหลักพึ่งพา ของพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา…จึงตัดสินพระทัยว่าการที่จะเสด็จฯไปไหนๆ แล้วแจกผ้าห่มแจกเสื้อผ้าเป็นการถมมหาสมุทร อย่างไรก็ช่วยไม่ได้หมด ทางที่ดีรับสั่งว่าต้องลงไปพูดคุยกับเขา เรียกว่าสอบถามถึงความทุกข์ของเขาว่าอยู่ที่ไหน…เมื่อเริ่มตั้งพระทัยเช่นนั้น ก็เริ่มทรง ศึกษาแผนที่ ซึ่งกรมแผนที่และกรมชลประทานช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ได้รัฐบาลที่คอยช่วยเหลือ เกื้อกูลพระองค์ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ทรงตอบแทนพระคุณประชาชนได้อย่างเต็มที่…”

และนี่เองจึงเป็นที่มาของการเสด็จฯย่ำพระบาทไปทั่วทั้งแผ่นดิน เพื่อทรงรับฟังทุกข์ของประชาชน จากปากคำของประชาชนถึงบ้านของประชาชน เคยมีการบันทึกไว้ว่า ในแต่ละปีเสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจราว 500-600 ครั้ง รวมเป็นระยะทางประมาณ 25,000-30,000 กิโลเมตร ไม่มีที่ไหนในโลกที่พระมหากษัตริย์จะออกไปแล้วประชาชนมานั่งเล่าถึงความทุกข์ แล้วพากันไปดูจนถึงหลังบ้าน ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรนั้น “ในหลวง รัชกาลที่ 9” จะทรงเป็นกันเองอย่างมากกับคนในพื้นที่ ทรงแทนพระองค์เองว่า “ฉัน” จะทรงพอพระทัยมากหากได้ทรงฟังข้อมูลจากปากของราษฎรเอง บรรดาผู้ตามเสด็จต่างทราบดีว่าจะโปรดมากถ้าทรงพบราษฎรที่รู้ข้อมูลในหมู่บ้านดี บางคราวประทับกับพื้น ทรงซักถามพูดคุยกับเขาได้เป็นเวลานานๆ ทรงมีวิธีกำจัดความประหม่าของราษฎรด้วยการทรงชวนคุยเรื่องทั่วๆไปก่อน จนเมื่อเกิดความสบายใจแล้ว จึงค่อยๆขยับไปถามถึงการทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ จนถึงปัญหาทุกข์ยากของเขา แม้เขาจะตอบถูกบ้างผิดบ้างก็ไม่โปรดให้ข้าราชการขัดจังหวะ หรือตอบแทนราษฎร

อีกหนึ่งภาพคุ้นตาคือ ภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงพกแผนที่ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงต่อแผนที่ด้วยพระองค์เองในสำนักงานส่วนพระองค์ แผนที่ที่ทรงใช้มีขนาดใหญ่กว่า 53 ซม.×55 ซม. ซึ่งเป็นขนาดโดยประมาณของแผนที่ 1 ต่อ 50,000 ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ปกติแผ่นหนึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 700 ตารางกิโลเมตร แต่พื้นที่เสด็จฯมักกว้างกว่านั้นมาก พระปรีชาสามารถในด้านแผนที่มาจากประสบการณ์การใช้แผนที่มายาวนาน ทรงเริ่มใช้ตั้งแต่เสด็จเยี่ยมราษฎรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2498 มาจนตลอดรัชกาล

“สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเล่าในรายการวิทยุ “พูดจาประสาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯว่า “สำนักงานของท่านคือ ห้องกว้างๆ ไม่มีเก้าอี้ มีแต่พื้น แล้วท่านก้มอยู่กับพื้นเอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกัน แล้วหัวกระดาษต่างๆ ท่านก็ค่อยๆตัดแล้วเรียงแปะเป็นหัวแผนที่ใหม่ เพื่อที่จะได้ทราบว่าแผนที่นั้นเป็นแผนที่ใหม่อันใหญ่ของท่าน ท่านทำจากแผนที่ระวางไหนบ้าง การปะแผนที่เข้าด้วยกัน ท่านทำอย่างพิถีพิถัน แล้วถือเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว พระราชทานเหตุผลว่า งานช่างคืองานที่ผนวกกันระหว่างสมองกับมือ เพราะฉะนั้นต้องทำเองขีดเอง ลูบคลำมันไปแล้ว มันจะได้จากมือที่ลูบคลำ จากตาที่ดู ย้อนกลับมาที่สมอง ทำให้คิดอะไรขึ้นมาได้”

ขณะที่ชาวกรุงเทพฯกำลังทนทุกข์หนักกับสภาพน้ำท่วม น้อยคนนักจะรู้ว่า “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ทรงพยายามหาหนทางบรรเทาทุกข์ให้พวกเขาอยู่อย่างเงียบๆ ในหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนากรุงเทพมหานคร ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จัดพิมพ์โดยกรุงเทพมหานคร บรรยายเหตุการณ์หนึ่งในความทรงจำว่า ขณะรถพระที่นั่งแล่นออกจากพระตำหนักจิตรลดาฯราวบ่ายสองโมง สู่ถนนศรีอยุธยา เลี้ยวขวาเข้าถนนเพชรบุรี มุ่งสู่ถนนบางนา-ตราด ไม่มีหมายกำหนดการ ไม่มีการปิดถนน แม้แต่ตำรวจท้องที่ก็ไม่ทราบล่วงหน้า รถยนต์พระที่นั่งชะลอเป็นระยะๆ เพื่อทรงตรวจดูระดับน้ำ จนเมื่อถึงคอสะพานสร้างใหม่ที่คลองลาดกระบัง จึงเสด็จลงจากรถเพื่อทรงหารือกับเจ้าหน้าที่ ทรงฉายภาพด้วยพระองค์เอง ทรงกางแผนที่ทอดพระเนตรจุดต่างๆ จนถึงเวลาเกินกว่าบ่ายสี่โมง รถยนต์พระที่นั่งแล่นกลับ เมื่อถึงสะพานคลองหนองบอน รถพระที่นั่งหยุดเพื่อให้ทรงฉายภาพ และทรงศึกษาแผนที่ร่องน้ำต่างๆอีกครั้ง ปรากฏว่าชาวบ้านทราบข่าว “ในหลวงมาดูน้ำท่วม” จึงพากันมาชมพระบารมีนับร้อยๆคน จนทำให้การจราจรบนสะพานเกิดการติดขัด พระองค์ต้องทรงช่วยโบกพระหัตถ์ให้รถขบวนเสด็จผ่านไปจนเป็นที่เรียบร้อยด้วยพระองค์เอง

ในปีมหามงคลทรงครองราชย์ครบ 25 ปี เมื่อปี 2514 รัฐบาลในขณะนั้นได้เข้าเฝ้าฯกราบบังคมทูลถึงพระราชพิธีรัชดาภิเษก และการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย กระนั้น ทรงขอให้รัฐบาลเปลี่ยนจากการสร้างอนุสาวรีย์เป็นถนนวงแหวน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร อันเป็นที่มาของการสร้าง “ถนนรัชดาภิเษก” มีพระราชดำรัสเล่าถึงเรื่องนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระ ราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2536 ว่า “…ทางรัฐบาลขอให้มีการฉลองหน่อย ถามว่าฉลองอะไร ท่านจอมพลประภาสก็บอกว่าจะสร้างอนุสาวรีย์ ที่ไหนไม่ทราบจำไม่ได้ เลยบอกว่าขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน”

ตลอดเวลา 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง จนเป็นที่เคารพสูงสุดของประชาชนชาวไทย เปรียบไปแล้วก็ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนอย่างแท้จริง หนึ่งในบทบาทสำคัญคือ การสร้างความปรองดองของคนในชาติ ทุกครั้งยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ และไม่มีผู้ใดสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ประชาชนทุกคนคาดหวังว่า “ในหลวงของเรา” จะทรงใช้พระบารมีทำให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยได้ ซึ่งไม่มีพระมหากษัตริย์ของรัฐใดจะเปี่ยมล้นด้วยพระบารมีเท่าพระองค์ การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น หัวใจสำคัญยิ่งคือ ความเป็นธรรมที่ราษฎรพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่ง “ในหลวงของเรา” ทรงมีบทบาทในการพระราชทานความเป็นธรรมแก่ราษฎรเสมอมา

ตลอดเวลาหลายทศวรรษของการครองแผ่นดิน ทรงครองใจคนไทยทั้งชาติ เพราะไม่เคยอยู่ห่างจากประชาชนของพระองค์ ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนชาวไทยเสมอมา อีกทั้งทรงใช้ความกล้าหาญในการนำพาประเทศให้พ้นภัย สมดังที่ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของประชาชน ธ สถิตกลางใจราษฎร์ชั่วนิรันดร์.

https://www.thairath.co.th/news