You are currently viewing คำสอนหลวงพ่อเรื่อง “ระวังลมหายใจ”

คำสอนหลวงพ่อเรื่อง “ระวังลมหายใจ”

คำสอนหลวงพ่อเรื่อง “ระวังลมหายใจ”
.. ถ้าจิตมันปรารภความโลภมันก็
ขวาง การเจริญสมาธิก็ดี วิปัสสนาญาณ
ก็ดี ทรงศีลก็ดี “เราไม่ต้องการความโลภ”
เราต้องการตัดความโลภให้พ้นไป
ถ้าวาจาปรารภความรักระหว่างเพศ
มันก็ขวางอีกนั่นแหละ
ถ้าจิตไปจดจ่ออยู่ในความโลภก็ดี
ในความรักระหว่างเพศก็ดี มันก็ดึงตก
เพราะอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้เป็นอารมณ์
ใกล้ ที่ท่านเรียกกันว่า “ตัณหา” มันจัด
เป็น “กามตัณหา” มันเป็นตัวดึง “ดึงให้จิต
ของเรามันตกอยู่ในอารมณ์ของความชั่ว”
ให้ความชั่วมีอำนาจเหนือกำลังใจ
นี้บางทีก็ความโกรธความพยาบาท
ที่แสดงออกมาทางความเร่าร้อน การที่
จิตตกอยู่ในความรักก็ดี ความโลภก็ดี
ความโกรธก็ดี แสดงว่า “จิตของเราโง่มาก
มีความหลง” ได้แก่ “โมหะ คือ อารมณ์โง่”
ฉะนั้นวิธีที่เราจะป้องกันจิต ไม่ให้
ตกลงมาหาความชั่วอย่างหยาบ รึว่า
ความชั่วอย่างกลาง สิ่งที่กั้นก็คือ
“อานาปานุสสติกรรมฐาน” คำว่า
อานาปานุสสติกรรมฐานได้แก่
“การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก”
ฝึกให้มันทรงตัว และการรู้ลมเข้า
ลมออก หายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า
หายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจ
เข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น
ก็รู้อยู่ นี่อย่างหนึ่ง เป็นอย่างแบบเบาๆ
ของ “สายสุกขวิปัสสโก”
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ใน
“มหาสติปัฏฐานสูตร” ขึ้นต้นด้วย
อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าเราจะฝึก
อย่างหนัก เบาเราไม่ชอบใจ จะควบ
อารมณ์ทั้ง “สุกขวิปัสสโก เตวิชโช
ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโต”
ก็ใช้รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก
เหมือนกัน “แต่ตั้งฐานรู้อาการสัมผัส
ของลมไว้ ๓ ฐาน” คือเวลาหายใจเข้า
ลมกระทบจมูก จากจมูกเข้าไปกระทบ
อก จากอกเข้าไปกระทบศูนย์เหนือ
สะดือนิดหน่อย
เวลาลมหายใจออกมันจะกระทบ
ศูนย์เหนือสะดือ แล้วก็มากระทบอก
กระทบริมฝีปากหรือจมูก มันจะมี
ความรู้สึกตามนี้ นี่อันนี้หนักหน่อย
ให้เลือกใช้เอาตามอัธยาศัย
ถ้าจะใช้แบบ ๓ ฐาน อันดับต้น
ก็ให้รู้ลมมากระทบที่จมูกก่อน หายใจ
เข้าหายใจออก มันจะมีการสัมผัสจมูก
ถ้ารู้แค่นี้ในขณะนั้น แสดงว่าจิตทรงอยู่
ใน “ขณิกสมาธิ” เป็นสมาธิเล็กน้อย
ถ้ารู้ลมกระทบหน้าอกด้วย ข้างในนะ
ไม่ใช่ข้างนอก แต่ลมหายใจต้องปล่อย
ตามสบาย อันนี้จิตเข้าถึง “อุปจารสมาธิ”
ถ้ากระทบทั้ง ๓ ฐานทั้งเข้าทั้งออก
ขณะนั้นจิตอยู่ในขั้นของ “ปฐมฌาน”
ที่ต้องพูดถึงอานาปานุสสติกรรมฐาน
อยู่เสมอ เพราะว่า “เป็นหลักใหญ่ เป็น
กรรมฐานละเอียด” ถ้าจิตเราชนะอารมณ์
ฟุ้งซ่าน สามารถรู้ลมหายใจเข้าออก
ได้ตามปกติจนมีอาการชิน
แสดงว่าจิตของท่านผู้นั้น “เป็นผู้ทรง
ฌานตลอดเวลา” หากว่าเราจะใช้คำ
ภาวนา หรือพิจารณา อารมณ์มันจะติด
คือให้มันติดอยู่ในคำภาวนา หรือว่า
พิจารณา อย่างภาวนาแบบง่ายๆ
ที่เคยใช้กันแต่ก็สูงมาก
เป็นคำภาวนาที่แม้แต่พระอรหันต์
เองก็ยังใช้ นั่นก็คือใช้คำภาวนาว่า
“พุทโธ” พุทโธ “เป็นพระนามความดี
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
ฉะนั้นพระอรหันต์ก็ยังทรงอยู่ รักษา
อารมณ์นี้ไว้ รู้ทั้งลมหายใจเข้า
หายใจออก รู้ทั้งคำว่า “พุทโธ”
คือเวลาหายใจเข้านึกว่า “พุท”
เวลาหายใจออกนึกว่า “โธ” ถ้าเรา
มีการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจ
ออกอย่างนี้ รู้คำภาวนาอย่างนี้ เอา
ให้มันชนะตรงนี้ ให้จิตมันทรงอยู่
ตรงนี้
เรื่องความฟุ้งซ่านของจิตที่จะคิด
เป็นอย่างอื่น มันก็มีบ้างเป็นของธรรมดา
แต่ทว่าเมื่อเรารู้ตัวขึ้นมาก็ดึงมันกลับมา
ให้ทรงอยู่ หายใจเข้ารู้ “พุท” หายใจออก
รู้ “โธ” เสมอ โดย ไม่ต้องกำหนดฐาน
ก็ได้ใหม่ๆ “ให้จิตมันชิน”
เมื่อจิตมันชินจริงๆ ละก็ ท่านทั้งหลาย
จะมีความรู้สึกว่า อารมณ์นี่มันว่างไม่ได้
ถ้าอารมณ์มันว่างแล้ว มันจะหันมาจับ
ลมหายใจเข้าออก กับคำว่า “พุทโธ”
ทันที ทำให้มันชินอย่างนี้
แล้วเราก็ไม่ต้องไปมองว่า นิวรณ์
๕ ประการ มันมีอะไรบ้าง สิกขาบท ๕
สิกขาบท ๘ สิกขาบท ๑๐ สิกขาบท ๒๒๗
เราไม่ต้องไปมองว่ามีอะไรบ้าง ถ้าจิต
มันทรงอยู่อย่างนี้ล่ะก็ เรียกว่า “เราไม่มี
ความฟุ้งซ่านแล้ว”
สามารถชนะความฟุ้งซ่านของจิตได้
มีความสำคัญ เมื่อชนะความฟุ้งซ่าน
ของจิต “จิตก็อยู่ในด้านอารมณ์ของกุศล”
ไอ้เรื่องที่เราจะพูดผิดศีลน่ะ มันไม่มี
หรือว่าจะทำผิดศีล มันก็ไม่มี ถ้าจิต
มันตั้งอยู่แบบนี้
แล้วการพูดมันก็จะน้อยลง เพราะ
ไม่มีอารมณ์ซ่านของจิตคลุมใจ จิตจะ
ตั้งตรงอยู่เฉพาะอารมณ์ที่เป็นฌาน
คือ รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก
รู้คำภาวนา ถ้าหากว่าว่างนิดจาก
กิจอื่นมันก็จับ “พุทโธ” ทันที รู้ลม
หายใจเข้าออกทันที
ถ้ามีกิจอื่นที่จะต้องทำ จิตก็จับเฉพาะ
ในอารมณ์นั้น หรือวาจาใดที่เราจะพูด
มันจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จะไม่พูด
จะไม่ทำไปนอกเหนือจากจริยาที่เราควร
จะประพฤติปฏิบัติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า
“ฌานโลกีย์”
ทำไมถึงบอกว่าจะไม่ทำไปนอกเหนือ
ข้อวัตรปฏิบัติ ก็เพราะว่าผู้ทรงฌานจริงๆ
น่ะ “จิตมันมัดอารมณ์” ที่ว่าจิตมันมัด
อารมณ์เพราะ “จิตมันมีสติสัมปชัญญะ”
มันจะดึงอารมณ์เฉพาะที่เราต้องการ
เท่านั้นเข้าไว้
ถ้าขณะใดถ้าอารมณ์เฝือไปเพียง
นิดเดียว จิตจะมีความรู้สึกว่าไม่สบาย
กระสับกระส่าย เวลาจะนอนตื่นขึ้นมา
มันก็ไม่มีความสุข เพราะจิตมันวุ่นวาย
ฉะนั้น “ผู้ทรงฌานจึงไม่ยอมให้ความ
วุ่นวายของจิตมันเกิดขึ้น”
เพราะความวุ่นวายของจิตเกิดขึ้น
เมื่อไหร่ คือนิวรณ์ ๕ ประการอย่างใด
อย่างหนึ่งก็ดี อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็ดี
ถ้ามันเกิดขึ้น ความสุขของใจมันไม่มี
มันขาดความสุขไป ตัวนี้เขาเสียดาย
ความสุข
ฉะนั้น การประพฤติและปฏิบัติใน
การเจริญพระกรรมฐาน ขอให้ทุกท่าน
ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องของศีล ซึ่งมีความสำคัญ
มาก คือ ศีลต้องบริสุทธิ์อยู่เสมอ การที่
มีศีลบริสุทธิ์ รู้อาการของศีล และรู้จังหวะ
การทรงศีลอยู่ เราเรียกกันว่า
“สีลานุสสติกรรมฐาน”
ถ้ารู้คำภาวนาคำว่า “พุทโธ” เขา
เรียกว่า “พุทธานุสสติกรรมฐาน”
รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เรียกว่า
“อานาปานุสสติกรรมฐาน” ถ้าหากว่า
สมาธิจิตของเราดี มีอารมณ์ชินในการ
ทรงลมหายใจเข้าหายใจออก
ชินในคำภาวนา ชินในการพิจารณา
ขันธ์ ๕ หรือว่า พิจารณาในสมถภาวนา
ในกรรมฐาน ๔๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือว่า พิจารณาในมหาสติปัฏฐานสูตร
ข้อใดข้อหนึ่ง นอกจากอานาปานุสสติ
กรรมฐาน
อารมณ์ชินอยู่อย่างนี้ “กิเลสมันก็เข้า
ไม่ได้ จิตใจมันก็มีความสุข” แล้วจิตใจ
มันมีความสุข อารมณ์มันก็ทรงตั้งมั่น
ความชั่วมันหลั่งไหลเข้ามาไม่ได้ รึเรียก
กันว่า กามราคะก็ดี ความโกรธความ
พยาบาทก็ดี ความหลงได้แก่โมหะก็ดี
รึว่าความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี
ความหลงก็ดี มันจะมีขึ้นมาไม่ได้ เพราะ
“กำแพงใหญ่ คือ ฌานกั้นเข้าไว้” และ
นอกจากนั้น “เมื่อจิตเป็นสมาธิปัญญา
มันก็เกิดเอง” เรื่องปัญญาที่จะเกิด
ไม่ต้องห่วง ถ้าปัญญาเกิดด้วยอำนาจ
ของสมาธิ จิตมันเป็นสุข
แล้วก็เป็นปัญญาที่มีความสำคัญ
“สามารถห้ำหั่นกิเลสให้เป็นสมุจเฉท
ปหานได้” ฉะนั้น ต่อนี้ไปขอบรรดา
ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ที่มุ่งหมาย
ในความดีของจิต ให้พยายามทรง
อารมณ์ลมหายใจเข้าหายใจออก
อย่าทิ้งการกำหนดรู้ลมเข้าลมออก
เป็นสำคัญ แล้วก็พอใจในคำภาวนาใดๆ
พิจารณาใดๆ ทรงอารมณ์ไว้ สังเกตดู
กำลังใจ ถ้ากำลังใจของเรา ถ้าว่างจาก
กิจอื่น จิตมันจะหันเข้ามาจับลมหายใจ
เข้าออก กับคำภาวนาและพิจารณา
เป็นอันว่า “จิตมันไม่ยอมจะว่างใน
อารมณ์ที่เป็นกุศล” แสดงว่าท่าน
พุทธศาสนิกชนทุกคน ทั้งภิกษุ สามเณร
อุบาสก อุบาสิกา แสดงว่า “ท่านผู้นั้น
เป็นผู้ทรงฌาน” และการทรงฌานนี่แหละ
จะเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณ
ที่มีแก่อารมณ์ของเราแจ่มใส การที่จะ
บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดา สกิทาคา
อนาคา อรหันต์ จึงเป็นของไม่ยาก
สิ่งที่มันจะยากจริงๆ ก็คือ “การทรงสมาธิ”
ที่เราพลาดพลั้งกันมาแล้วหลายๆ
คน ที่ปล่อยให้อารมณ์ที่เป็นอกุศล
เข้ามายุ่งกับใจก็เพราะว่า “เราเพลิน
เกินไป หรือเหลิงเกินไปในการศึกษา
เข้าใจว่าตัวเองดี” แต่พอหันเข้ามาจับ
อารมณ์ตอนต้นอีกที ปรากฏว่า
“ใช้อะไรไม่ได้”
ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท
ทั้งหลาย ต่อนี้ไป พยายามตั้งกายให้ตรง
ดำรงจิตให้มั่น การกำหนดรู้ลมหายใจเข้า
หายใจออกเป็นของสำคัญ รู้ไว้ ถ้ายัง
ไม่ใช้อะไรมาก เวลาหายใจเข้านึกว่า
“พุท” เวลาหายใจออกนึกว่า “โธ”
ถ้าขณะใดจิตทรงได้อย่างนี้โดย
ไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก แสดงว่า
“จิตของท่านมีสมาธิ” ถ้าจิตตั้งมั่นไม่
รำคาญในเสียงที่เข้ามารบกวน แสดง
ว่า “จิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน”
และภาวนาไปๆ มีใจเบิกบาน ตัด
คำภาวนาไปเฉยๆ อย่างนี้ “เป็นฌานที่ ๒”
ถ้าทำไปปรากฏว่า ลมหายใจหายไป
ความจริงมันหายใจ “จิตแยกจากประสาท”
ไม่มีความรู้สึกว่าหายใจ อย่างนี้เป็น
อาการของ “ฌานที่ ๔”
จัดเป็นกำลังใจที่สูงสุดในพระพุทธ
ศาสนา ต่อไปขอให้ทุกท่าน ท่านทั้ง
หลายโดยถ้วนหน้าตั้งกายให้ตรง
ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้า
หายใจออก ใช้คำภาวนาและพิจารณา
ตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณ
บอกหมดเวลา ..
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)