คำสอนหลวงพ่อเรื่อง “ขณิกสมาธิ”
.. สมมุติว่าบรรดาท่านพุทธบริษัท
นึกถึงลมหายใจเข้าออกบ้าง คำภาวนา
บ้าง หรือบางคนไม่นึกถึงคำภาวนาเลย
รู้แต่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้
หายใจออกรู้ ภาวนาด้วยก็ภาวนาไป
ถ้าใช้เวลาสักครึ่งนาทีก็ดี ๑ นาที
ก็ตามสามารถทรงตัวได้ ถ้าเลยจากนั้น
จิตซ่านมีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก แล้วต่อไป
ถ้ารู้ตัวก็เริ่มต้นใหม่อย่างนี้ท่านเรียกว่า
“ขณิกสมาธิ” ถือว่าเป็นสมาธิเล็กน้อย
หรือสมาธิประเดี๋ยวเดียว
ประเดี๋ยวหนึ่งก็สลายตัว แต่เราก็
ไม่ยอมแพ้ เราก็ทำของเราเรื่อยๆ จนกว่า
จะเมื่อยขบมาก เมื่อเมื่อยขบมากเกินไป
ก็เลิก อย่าทนเกินไป ถ้าว่ากันถึงอานิสงส์
ของขณิกสมาธิก็ต้องขอเอาเรื่องเก่า
มาพูดกัน
เพราะคนที่นั่งอยู่ที่นี่หน้าเก่าๆ ก็มีเยอะ
หน้าใหม่ก็มีเยอะ แต่หน้าเก่าๆ ก็ไม่แน่
ดีไม่ดีเรื่องเก่าก็ทะลุหายไปเลยก็มี
เรื่องเก่าๆ คือสมาธิเล็กน้อยจริงๆ แต่ว่า
เขาไม่ได้ตั้งใจในด้านความดี ตัวอย่างคือ
“ท่านสุปติฏฐิตเทพบุตร” ท่านผู้นี้ไม่เคย
สร้างความดีตั้งแต่สมัยเกิดมา ขึ้นชื่อว่า
ความชั่วทุกอย่างทำหมด ศีล ๕ ประการ
ละเมิด ธรรมะที่ควรจะรักษาก็ละเมิด
ไม่มีดีสักอย่าง
แต่ว่าเวลาจวนจะตายเข้ามาจริงๆ คือ
ป่วยหนัก ลืมตาเห็นภรรยาบ้าง บุตรธิดา
บ้าง ข้าทาสหญิงชายบ้างนั่งอยู่ข้างๆ ก็
คิดว่าทุกคนเขาห่วงเรา แต่ไม่มีใคร
สามารถจะมาแบ่งทุกขเวทนาจากเรา
ได้เลย ตอนนั้นจิตก็นึกถึงพระพุทธเจ้า
เขาลือกันว่าพระสมณโคดมมีเมตตา
มาก เมตตาไม่ว่าใคร สงเคราะห์ไม่เลือก
ว่าใคร ถ้าใครยอมรับนับถือ ฉะนั้นเวลานี้
เราขอยอมรับนับถือพระสมณโคดม และ
ขอให้พระสมณโคดมมาช่วยให้เราหาย
จากป่วย
ความจริงเขานึกอย่างนั้นไม่ได้เลื่อมใส
อย่างพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่ เพียงนึกแค่นี้ใน
ระหว่างที่นึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ ก็พอดีเขา
ขาดใจตายเวลานั้น ภาษาไทยเราเรียกว่า
ขาดใจตายหรือตาย แต่ความจริงภาษา
บาลีเขาไม่เรียกตาย เขาเรียก
“กาลังกัตวา”
คำว่า “กาลังกัตวา” หมายถึง “ถึงวาระ
ที่ต้องไปแล้ว” คือไปจากร่างกายนี้ไปสู่
ภพอื่น อาศัยที่เขานึกถึงพระพุทธเจ้าเป็น
พุทธานุสสติแม้แต่เพียงเล็กน้อย การ
ยอมรับนับถือก็ไม่ดีจริง สมาธิก็ไม่ได้มั่นคง
เป็นแต่เพียงคิดว่าขอให้พระองค์มาช่วย
ให้หายป่วย
ถึงอย่างนั้นก็ดีเพราะอาศัยที่นึกถึง
องค์สมเด็จพระชินสีห์ก็มีอานิสงส์มาก
จิตว่างจากกิเลส เวลาที่นึกถึงพระพุทธเจ้า
ก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี หรือ
นึกถึงลมหายใจเข้าออกโดยไม่นึกถึงเรื่อง
อื่นก็ดี เวลานั้นถือว่า “จิตว่างจากกิเลส”
เพราะอาศัยจิตว่างจากกิเลสนิดเดียว
และมีพุทธานุสสติเป็นอานิสงส์ก็เป็นเหตุให้
ท่านสุปติฏฐิตเทพบุตรไปเกิดเป็นเทวดาบน
สวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก มีวิมานทองคำ
เป็นที่อยู่ มีนางฟ้าหนึ่งพันเป็นบริวาร
แต่อาศัยความประมาทในสมัยเป็นคน
เป็นคนประมาท พอเป็นเทวดาก็เป็นเทวดา
ประมาท ไปเป็นเทวดาแล้วไม่ปฏิบัติความ
ดีต่อ ความดีที่สั่งสมไปมีน้อย อานิสงส์สูง
ก็จริงแหล่แต่ปริมาณน้อย
ฉะนั้นการทรงสภาพความเป็นทิพย์บน
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์จึงมีไม่มาก ต่อมาเมื่อ
ใกล้จะหมดบุญวาสนาบารมีก็พอดีองค์
สมเด็จพระชินสีห์คือพระพุทธเจ้าไปเทศน์
โปรดพุทธมารดา
ขอเล่าสั้นๆ นะ เวลานั้นท่านอากาส
จารีเทพบุตรไปประกาศชักชวนเทวดาไป
ฟังเทศน์จึงมาพบเข้า ก็ทราบว่าท่านสุปติฏ
ฐิตจะหมดบุญวาสนาบารมี ก็จึงประกาศ
ให้ทราบว่า
“ใครเป็นเจ้าของวิมานนี้ ท่านจะจุติ
ภายใน ๗ วัน ทำไมไม่ไปต่อบุญบารมี”
ท่านสุปติฏฐิตรู้ตัวว่าจะตาย ก็ดูว่าถ้า
ตายจากตอนนี้จะไปไหน ก็ทราบว่าต้อง
ดิ่งลงอเวจีมหานรกเป็นต้น แล้วก็ไล่มาตก
นรกทุกขุม เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์
เดรัจฉานทุกจำพวกที่ฆ่าไว้ ท่านก็ตกใจจึง
ขอให้ท่านอากาศจารีช่วย
ท่านบอกว่า เราก็เป็นเทวดาด้วยกัน
ช่วยไม่ได้ ต้องพากันไปหาพระอินทร์
พระอินทร์ก็บอกว่า ช่วยไม่ได้ ต้องพา
ไปหาพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ช่วยได้
พระพุทธเจ้าจึงเปลี่ยนเรื่องเทศน์จาก
อภิธรรม เป็น “อุณหิสวิชัยสูตร” เมื่อเทศน์
จบก็ปรากฏว่าท่านสุปติฏฐิตเป็นพระ
โสดาบัน บรรดาท่านพุทธบริษัทจะคิดว่า
เล็กน้อยนั้นไม่มีผลน่ะไม่ใช่ สุดแล้วแต่
กำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท
“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม”
ฉะนั้นขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัท
ก่อนที่จะภาวนาก็ตั้งใจคิดว่าวันนี้ความ
ตายอาจจะมีกับเราวันนี้ก็ได้ คือตั้งใจไว้
ก่อนแต่เวลานี้เรายังไม่ตาย ขอยึด
พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์
เป็นที่พึ่ง เพื่อกันอบายภูมิไว้
แล้วเราจะทรงศีล ๕ ให้บริสุทธิ์เพื่อ
หวังซึ่งพระนิพพาน
หลังจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัท
ทุกท่านก็จับอานาปานุสสติคือกำหนดรู้
ลมหายใจเข้าออกแล้วก็ภาวนาตาม
อัธยาศัย อย่าลืมนะว่าคำภาวนานี่อาตมา
ไม่จำกัดนะ ใครภาวนาคล่องอย่างไหน
ไม่ต้องเปลี่ยน ให้ภาวนาตามนั้น ตามเดิม
ที่เคยปฏิบัติมา
ถ้าท่านผู้ใดไม่เคยปฏิบัติมาก่อนให้
ใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ”
เอาละ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท
เวลานี้ก็หมดเวลาแล้ว ขอบรรดาท่านพุทธ
บริษัทตั้งใจสมาทานศีลและสมาทาน
พระกรรมฐาน สวัสดี ..
(พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)
ที่มาจาก.. ธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๔๒๖ หน้าที่ ๒๕-๒๘