การทรงฌานแบบง่ายๆ
นี่การที่ทรงให้เป็นฌานได้ง่ายๆ
เขาทำกันแบบนี้ นี่เขาทำกันแบบนี้ นี่ตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พยายามกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ต้องฝืนใจกันนิดๆ
จับลมให้ครบสามฐาน เวลาหายใจเข้าลมกระทบจมูก กระทบหน้าอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย ที่ท้องน่ะ
กระทบข้างในไม่ใช่ข้างนอก เวลาหายใจออกลมกระทบท้อง กระทบหน้าอก กระทบจมูกหรือว่าริมฝีปาก ถ้าคนริมฝีปากงุ้มก็กระทบจมูกไม่ชนริมฝีปากเพราะริมฝีปากหลบลม ถ้าริมฝีปากเชิดขึ้นมา ลมกระทบริมฝีปาก เวลาหายใจ ปล่อยหายใจตามแบบสบายๆอย่าไปบังคับให้สั้นหรือยาว ให้แรงให้เบา ไม่เอาอย่างนั้น”….
คือทั้งนี้ก็ต้องการเป็นการควบคุมสติสัมปชัญญะเท่านั้น
ไม่ใช่ไปเร่งรัดอะไรกับลม ความจริงเราเร่งรัดใจให้เป็นตัวรู้ คือรับรู้เข้าไว้
ขณะใดที่ยังรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก ขณะนั้นชื่อว่ามีสมาธิ
ทีนี้วิธีพูดแบบนี้มันไม่ยากอีตอนยากมันมีอยู่ตอนหนึ่ง
แล้วอารมณ์ใจของเรามันมีสภาพกวัดแกว่งเป็นปกติเพราะมันคบกับนิวรณ์ คืออุธัจจกุกกุจจะมานาน ได้แก่ตัวฟุ้งซ่านรำคาญ
นี่เราทำอย่างไรจะปราบนิวรณ์
ตัวนี้ได้ไอ้ตัวฟุ้งซ่านนี่ก็ได้แก่ไอ้ตัววิตกจริต หรือโมหจริตนั่นเอง
วิตกแปลว่านึก มันนึกไม่หยุด โมหจริตก็โง่นึกส่งเดชไปไม่มีการฝืนใจ ทำอย่างไรอารมณ์ใจมันคบกับอารมณ์แบบนี้มาเป็นแสนๆกัป มีเป็นอสงไขยกัป แล้วเราจะมานั่งปรับปรุงใจให้มันได้ดีในชั่วระยะเวลาเล็กน้อยมันจะทำได้รึ”…….
บารมีอ่อนก็ทำให้เต็มได้
พอเริ่มปั๊บจับปั๊บให้จิตเป็นฌาน ที่ถ้าหากว่าบุญบารมีของท่านเคยได้มาในชาติก่อน มันก็เป็นของไม่ยากนี่ถ้าหากว่าเราเป็น อาทิกัมมิกบุคคล คนผู้เริ่มต้น ความจริงบารมีนี่เราสร้างใหม่กันได้ ถ้าอ่อน มันเบาไปแล้วก็ เราก็มาสร้างใหม่ให้เข้มแข็ง มันทำได้ไม่ใช่ไม่ได้ ทำได้แล้วทำอย่างไรมันถึงจะอยู่
สมเด็จพระบรมครูท่านแนะนำไว้อย่างนี้ นี่มีหนังสือให้อ่านแล้วนะ แล้วก็มาพูดให้ฟังอีก ถ้าได้อ่านหนังสือแล้ว
พูดให้ฟังแล้ว มาถามอีกแล้วก็ไม่บอกกันนะ
รำคาญเต็มที มีหลายท่านมาถาม ถามว่าหนังสือมีอ่านไหม บอกว่ามี อ่านแล้วหรือยัง อ่านแล้ว แล้วมาถามอีก แบบนี้ไม่อยากเสียเวลาพูดด้วย กวนเวลานอน นอนพิจารณาขันธ์ ๕ เล่นโก้ๆดีกว่า คนไม่เอาถ่านไม่เอาไหนนี่ ป่วยการไม่อยากคบ
เพราะอะไร คบไปก็เหนื่อยไม่ได้อะไรด้วยนี่ ขืนคุยด้วยก็เหนื่อย เสียเวลาพิจารณาขันธ์ ๕ สู้นอนสบายๆอยู่คนเดียวพิจารณาขันธ์ ๕ เล่นโก้ๆสบายๆใจ ปลอดโปร่งไม่แวะซ้ายไม่แวะขวา อารมณ์เป็นอัพยากฤต มีความสุขบอกไม่ถูก อัพยากฤตเขาแปลว่าอะไร เขาแปลว่าไม่เอาไหน
ไม่เอาไหนทั้งหมดนะ ไปจุดเดียวคือพระนิพพาน อารมณ์ตั้งไว้ในส่วนแห่งพระนิพพานมันสบายบอกไม่ถูก สบายจริงๆ อย่าพูดไปเชียวนะ อย่าพูดให้มันดัง พูดเพียงแต่ว่า พอให้เขาได้ยินชัดพอแล้ว ถ้าดังชาวบ้านเขาจะเอาอิฐขว้างบ้านเอา มันรำคาญชาวบ้านเขา
แต่ความจริงความรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรเป็นเครื่องปกปิด นอกเสียจากว่าบุคคลผู้มีจิตใจทุจริตไม่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าไปพูดกับเขา เสียเวลา
ถ้าเราทำได้แล้วเราก็ทรงความดีของเราไว้ถ้าว่าเขาไม่ชอบใจอย่าไปแค่นสอนเขา
คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีการบังคับ ไม่ง้อนักปฏิบัติ ใครอยากได้ก็เชิญปฏิบัติ ใครไม่อยากได้ก็เชิญตามสบาย เพราะอะไร เพราะว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรไม่มีค่าจ้าง เป็นอันว่าเราตั้งใจปฏิบัติตามท่าน เอากันอย่างนี้นะ เอากันตามจุดดีปฏิบัติตามแบบนี้ แต่อารมณ์มันซ่าน บังคับใจไว้ในระยะสั้นๆ กำหนดใจไว้เลยว่า”….
ฝึกนับลมเป็นคู่ๆ
…นับหนึ่งถึงสิบ นับนิ้วไปด้วย ไม่ต้องภาวนา อานาปานุสสติไม่ต้องภาวนา
…หายใจเข้า…หายใจออก นับเป็นหนึ่ง ขยับนิ้ว
…หายใจเข้า…หายใจออก นับเป็นสอง
…หายใจเข้า…หายใจออก นับเป็นสาม
…หายใจเข้า…หายใจออก นับเป็นสี่
…พอนับไปถึงห้า หยุด แล้วกลับมานับหนึ่งไปถึงสิบ หยุด นับหนึ่งถึงสิบห้า หยุด นับหนึ่งถึงยี่สิบ หยุด ว่าไปแบบนี้…
ลงโทษมัน ตั้งต้นใหม่
ทีนี้ถ้าอารมณ์ใจของเรามันไม่คงที่ บังคับไม่อยู่ตามนั้น เอามันใหม่ นับหนึ่งถึงสิบ
ตั้งใจไว้ว่าเราจะไม่ยอมให้อารมณ์ของเราไปยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่นเป็นอันขาด
นอกจากว่าจะรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เอาแค่สิบ ถ้าในระหว่างยังไม่ถึงสิบ จิตอย่างอื่นมันแลบ
คบอารมณ์อื่นเข้ามา ทรมานมันตั้งตันเสียใหม่ นับหนึ่งใหม่ให้มันเข้าไปถึงสิบ นับช้าๆหายใจตามสบาย หายใจเข้าหายใจออกขยับนิ้วหนึ่งนิ้ว
หายใจเข้าแล้วหายใจออกแบบสบาย หายใจนับนิ้ว ขยับนิ้วเป็นนิ้วที่สอง เอาให้ได้สิบ พอถึงสิบเลิกเลย มันจะคิดไปไหนก็ปล่อยให้มันคิดไปตามสบาย ถ้าจิตมันซ่าน”…..
หรือเอาอย่างนี้ก็ได้ เคยปฏิบัติมา แหม….ไอ้คำว่าเคยปฏิบัติมานี่ เขาจะหาว่าอวดตัว เอาอย่างนี้ดีกว่า ตามนักปฏิบัติท่านที่ปฏิบัติได้ดีแล้ว”…….
วันไหนปรากฏว่าอารมณ์มันซ่านเต็มที ท่านจะนั่งก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้
ทำปฏิบัติแค่นับหนึ่งถึงสิบแล้วท่านเลิกเลย ถ้าอยากจะเดินก็เดินพาเหรดแบบสบาย
หรือไม่อย่างนั้นก็อ่านหนังสือบ้าง คุยไปบ้างอะไรบ้าง พอมีอารมณ์ว่าง จิตสงัดมาจับใหม่ นับหนึ่งถึงสิบ ถ้ายังสบายอยู่ขึ้นต้นหนึ่งถึงสิบอีก
ถ้ายังสบายอยู่ขึ้นต้นหนึ่งถึงสิบอีก ถ้าสิบหลังๆนี่ ถ้าอารมณ์มันซ่านตอนไหน เลิกได้ แต่สิบต้นจะไม่ยอมเลิก ถ้าสิบต้นคุมไม่อยู่ต้องขึ้นต้นใหม่ คุมให้อยู่ให้ได้ ทำแบบนี้ทุกวัน
แล้วก็ไม่ต้องไปนั่งเป๋งที่ไหน ไปยืนโคนต้นไม้ ก็ตามใจทุกอย่าง เรื่องกายไม่ต้องห่วง ห่วงตรงใจ ถ้ายิ่งเดินไปเดินมาแล้วก็นับหนึ่งถึงสิบได้ แหม…เก๋เลย
ถ้าจิตทรงสมาธิได้ในระหว่างเดิน ที่เราเรียกกันว่าจงกรม คำว่าจงกรมนี่เขาแปลว่าเดิน ไม่ใช่เดินกลมๆ เดินยาวๆก็ได้ มันแปลว่าเดินเฉยๆ จะเดินท่าไหนก็ได้ แต่ไม่ต้องไปยกๆย่างๆ เดินแบบธรรมดาๆ เพราะเราต้องการสติสัมปชัญญะเข้าไปควบคุม นี่ลองทำแบบนี้ดูบรรดาท่านพุทธบริษัท ภายในระยะ ๑๐ วันจะรู้สึกว่าไอ้การนับหนึ่งถึงสิบนี่มันเด็กเล็กๆนั่นเอง ดีไม่ดีร้อยสองร้อย สามร้อยห้าร้อย นี่มันยังสบายอยู่นี่ นี่เป็นวิธีอันหนึ่งที่ฝึกอานาปานุสสติให้เข้าถึงฌาน”……
ใช้เวลาน้อยๆแต่มีคุณภาพ
แล้วก็มีวิธีง่ายๆอีกวิธีหนึ่ง ง่ายกว่านั้นหากินแบบเข้าฌาน
ในแบบสบาย แบบนี้พยายามทำไปเถอะ แบบหลังนี่แบบต้นก็เหมือนกันทำไว้ ไม่ต้องไปนั่งตั้งเวลาสองชั่วโมง สามชั่วโมง ดีไม่ดีจะดันเตลิดเปิดเปิงไป
นี่เราไม่เชื่อใครก็ได้ แต่ว่าจงเชื่อพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมะนี่เป็นของพระพุทธเจ้าท่าน
แบบที่พระโบราณาจารย์ปฏิบัติกันได้ดีชั้นยอดที่เคยพบมาแล้ว สาวกขององค์พระประทีปแก้วประเภทนี้ท่านเคยแนะนำ
แล้วตอนกลางวันยังไม่นอน แล้วก็บอกว่าทำแบบกระจุ๋มกระจิ๋มนี่จับเอาแต่แค่ตรงดีพอมันเริ่มไม่ดีก็เลิก
ทีนี้มีวิธีหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่ดีถ้าภาวนาไป หรือว่าจับลมหายใจเข้าออกไป บางวันมันคุมไม่อยู่จริงๆ อย่าว่าแต่หนึ่งถึงสิบเลย เป็นหนึ่งถึงสามยังไม่ไหว อันนี้มันมีเหมือนกัน แล้วกำลังอารมณ์ของใจนี่จะไปบังคับให้มันทรงตัวโดยเฉพาะไม่ได้ ทำอย่างไรล่ะถ้าคุมไม่ไหว
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามีวิธีหนึ่ง คือปล่อยมันเลย คุมไม่ได้นี่ปล่อยทำตนเหมือนกับฝึกม้าพยศ ไอ้ม้าที่มันพยศนี่ เราจะฝึกให้มันเดินท่าไหน วิ่งท่าไหน มันไม่เอาด้วย มันมีกำลัง มันดื้อแพ่งอยู่ตลอดเวลา แล้วแถมดื้อเอาการเสียด้วย จะลงแส้หวดอย่างไรก็ตามมันไม่กลัว มันฝืนอยู่ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอาการของอารมณ์จิตเป็นอย่างนี้องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงแนะนำว่าจงทำแบบนี้ คือปล่อยมัน มันอยากจะคิดอะไรเชิญมันคิดตามสบาย
เมื่อมันคิดเตลิดเปิดเปิงไปแล้วคอยคุมมันไว้ประเดี๋ยวเดียวไม่เกิน ๒๐ นาทีเป็นอย่างช้า มันก็ขี้เกียจคิด พอขี้เกียจคิดปั๊บ จิตมันสลด จับอารมณ์ทันที ตอนนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท
จิตจะตั้งอารมณ์ดิ่งเป็นฌาน มีความสุขนานแสนนาน บางทีชั่วโมงสองชั่วโมงมันยังไม่คลายเลย มันนั่งสบาย ไม่ใช่ฝืนนั่ง มันสบายมีอารมณ์ดิ่งเป็นฌานจริงๆ
ท่านมีอุปมาเหมือนกับฝึกม้าพยศ ในเมื่อมันพยศไม่เข้าเส้นทาง เราก็ปล่อยให้มันวิ่งไป กอดคอเข้าไว้ วิ่งไป วิ่งไป พอมันหมดแรง
ทีนี้เราจะจูงมันไปทางไหนล่ะ มันหมดแรงจะสู้แล้วนี่ มันก็ไปได้ตามทาง ตามใจเราชอบ ข้อนี้อุปมาฉันใดอารมณ์ใจก็เหมือนกัน นี่ฟังกันไว้แล้วก็จำกันไว้ด้วย แล้วก็ปฏิบัติด้วยซิ ถ้าทำแบบนี้เรื่องฌานสมาบัติมันกล้วยจริงๆ กล้วยตากแช่น้ำผึ้ง ไม่ใช่กล้วยดิบ”…..
เวลาตอนนอน
………”แต่อีกวิธีหนึ่ง ถ้าเราทรงอารมณ์ไว้ได้พอสมควร การหากินในการทรงฌานง่ายๆแค่ ปฐมฌาน ท่านบอกว่า เวลานอน จับลมหายใจเข้าออกจนกว่าจะหลับ
ถ้ามันฟุ้งซ่านไม่หลับก็เลิกเสีย อย่าไปฝืน ถ้าจิตมันมีอารมณ์เรียบ จับลมหายใจประเดี๋ยวเดียวมันก็หลับ
อีตอนที่มันจะหลับนี่อย่าไปฝืนมัน มันจะหลับเร็วเท่าไหร่ก็ช่าง อย่าไปคิดว่านี่ยังนับหนึ่งไม่ถึงสิบ หลับไม่ได้ อย่า…อย่าไปโง่แบบนั้น อย่าลืมว่าถ้าเราภาวนาก็ดี พิจารณาก็ดี กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ ถ้าจิตเข้าไม่ถึงปฐมฌานมันหลับไม่ได้
ถ้าจิตเข้าถึงปฐมฌานมันก็หลับ ท่านบอกว่า แล้วขณะที่หลับนั้นจิตเข้าถึงปฐมฌาน”……
……..”ก็เป็นอันว่าในขณะที่หลับอยู่ ท่านถือว่าทรงอยู่ในฌานตลอดเวลา
ถ้าตายเวลานั้นเกิดเป็นพรหมทันที เห็นไหม นี่มันเป็นของดี หรือการพ้นตื่นขึ้นมาแล้ว สังเกตดู เมื่อจิตมันเริ่มภาวนาเองหรือเปล่า ถ้ายังต้องเตือนให้มันภาวนาเมื่อตื่นมาเต็มที่แล้ว นั่นแสดงว่าขณะที่หลับ หลับด้วยอำนาจปฐมฌานหยาบ ทีนี้พอตื่นขึ้นมาแล้วเต็มที่มันภาวนาเอง
ขณะที่หลับลงไปใจเข้าถึงปฐมฌานอย่างกลาง ทีนี้ถ้าตื่นขึ้นมาแล้ว
ถ้าจิตพอครึ่งหลับครึ่งตื่นมันรู้สึกว่า มันพิจารณาหรือภาวนาเอง นี่แสดงว่าที่หลับ จิตเข้าถึงปฐมฌานละเอียด นี่ความจริงถ้าทรงได้แค่ปฐมฌานก็เก๋ไม่น้อย แล้วเราสามารถพิจารณาวิปัสสนาญาณ จิตมีกำลังตัดกิเลสเป็นพระอริยเจ้าได้ แต่ยัง ถ้าปฏิบัติในสายกรรมฐานสี่สิบ เขาบอกยังเด็กเกินไป ต้องทำให้ได้ฌานสี่ นี่หลับอยู่ก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี รักษาอารมณ์ให้สบาย นั่ง นอน เดินก็ได้ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว กันอารมณ์ฟุ้งซ่านไม่ต้องภาวนา จนกระทั่งไม่รู้สึกว่าเราหายใจ แต่ร่างกับใจภายในมีอาการโพลง
มีความสว่างมากเหมือนกับเห็นแสงอาทิตย์ หรือว่ากระแสไฟฟ้าสักพันแรงเทียน มีจิตใจดิ่งสงบ หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่รู้ว่าตนหายใจ
อาการอย่างนี้เป็นอาการของฌานสี่ แล้วการได้ฌานแล้วเข้าถึงฌานระดับไหนหรือว่าทรงได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ฝึกตั้งเวลาเข้าไว้ ที่เราตั้งไว้ว่าสิบ ยี่สิบ สามสิบ นี่เป็นการฝึกทรงสมาธิ ทีนี้พอเราเข้าถึงฌานใดฌานหนึ่ง มันจะทรงตัวทันที นี่เป็นความดีที่บอกไม่ถูก”…….
……….”บรรดาท่านพุทธบริษัท พอจิตเข้าถึงฌานสี่แล้ว แล้วอย่าไปนึกว่าไม่หายใจจะตายล่ะ
ความจริงแล้วร่างกายมันหายใจ แต่ว่าจิตมันแยกจากกายไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาท
ใครจะเอาพลุมาจุดดังๆใกล้ๆก็ฟังไม่ได้ยิน นี่เป็นอาการของฌานสี่ ฌานองค์นี้มีความสำคัญมาก และถ้าหากทรงฌานให้ได้ ทีนี้ถ้าเราจะไปปฏิบัติกรรมฐานกองไหน อย่างกสิณสิบ
แหมมันกล้วยจริงๆ เจ็ดวันกอง เจ็ดวันกอง เจ็ดสิบวันได้สิบกอง แล้วหัดเข้าฌานสลับฌาน ออกฌาน เดี๋ยวเดียว รวมความว่าภายในภรรษาเดียวสามเดือน
เราก็สามารถทรงอภิญญาสมาบัติได้ นี่ถ้าเล่นอภิญญากัน หรือว่าถ้าเราจะเล่นวิชชาสาม ก็จับกสิณส่วนใดส่วนหนึ่ง คือเตโชกสิณ กสิณไฟ โอทาตกสิณ กสิณสีขาว อาโลกสิณ กสิณแสงสว่าง ถ้าเราได้ฌานสี่จากอานาปาฯแล้ว จับปั๊บเดียวสองสามวัน ทรงฌานในกสิณทันที และอีตอนนี้เราก็เล่นทิพจักขุญาณได้แบบสบายๆ”………………………………
จาก หนังสือคำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง
โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง